วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สังคมหลากหลาย

มนุษย์นั้นคืออิสระชน 
แม้จะมีกรอบข้อบังคับกฎระเบียบต่างๆเพื่อควบคุมมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติแล้ว แต่มนุษย์ก็มีสิทธิในการเลือกจะทำหรือไม่ทำตามข้อตกลงเหล่านั้น ความต้องการเป็นอิสระของมนุษย์นั้นมีค่าเป็นอนันต์ หากเลือกได้ ทุกคนต้องการอิสระโดยไร้ข้อจำกัดใดๆของอิสรภาพ


เอกลักษณ์ของมนุษย์ที่นิยมในอิสรภาพ เป็นสาเหตุสำคัญของความแตกต่างกันของมนุษย์ อิสรภาพทางความคิด นำมาซึ่งการปฏิบัติที่แตกต่าง


เมื่อแรกเกิด สมองของมนุษย์นั้นว่างเปล่า เรามีเพียงสัญชาติญาณสำคัญบางอย่างที่ทำให้เราสามารถมีชีวิตได้ ทักษะในการร้องเมื่อหิวหรือไม่สบายตัว ทักษะในการดูดและกลืนนมแม่ ทักษะในการหายใจเข้าออกตามปริมาณอากาศที่ต้องการสันดาปพลังงาน เหล่านี้เป็นทักษะเริ่มต้นตามสัญชาตญาณมนุษย์ เราทุกคนล้วนเกิดมาในสภาพของผ้าขาวบริสุทธิ์


จนกระทั่งเมื่อสมองของเราพัฒนาด้านการฟังและการมองเห็น แวดล้อมทั้งกายภาพและชีวิภาพ กลายเป็นอาหารสำคัญของสมอง ที่จะพัฒนาเชื่อมต่อข้อมูลทั้งหลายที่เข้ามาจากการรับรู้สองประการนั่น เป็นอารมณ์ ความคิดอ่าน บุคลิกภาพการแสดงออก อิทธิพลของการพัฒนาความเป็นมนุษย์ทั้งหมดของคนหนึ่งคน จึงเริ่มต้นและมีกระบวนการเดียวกัน


ณ สภาพแวดล้อม ผู้ปกครอง ที่แตกต่างกัน ทำให้มนุษย์แต่ละคนบรรจุข้อมูลที่ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง ในรายละเอียด แทบจะบอกได้เลยว่า มนุษย์ทั้งหมดที่เคยมีชีวิตในสากลโลกนี้ ไม่มีอะไรที่รับรู้มาเหมือนกันอย่างแท้จริงแน่ๆ เมื่อรับรู้ไม่เหมือนกันแล้ว จึงนำมาซึ่งอีกภาวะหนึ่งคือ เราไม่สามารถผลิตมนุษย์ที่คิดเหมือนกันได้โดยสัมบูรณ์ ไม่ว่าจะสองคนหรือมากกว่านั้นก็ตาม


การดำรงอยู่ในสภาวะที่มีความคิดเห็นที่หลากหลายในสังคม เกิดขึ้นจากบริบทของข้อมูลที่รับมาแตกต่างกัน เป็นเหตุให้ การวางคุณค่า (Value) ของทุกมิติในชีวิตมนุษย์ มีความหลากหลาย

คุณค่า ในที่นี้เป็นสิ่งที่อธิบายได้ยากว่าสิ่งใดคือความถูกต้อง สิ่งใดคือความไม่ถูกต้อง ตราบที่มนุษย์ไม่สามารถ รวบรวม จุดกำเนิดของความรู้และข้อมูลทุกสิ่ง ( Origin of the everything ) ให้เป็นหนึ่งเดียวได้ มนุษย์จำต้องยอมรับความหลากหลายที่เกิดขึ้นให้ได้

การปะทะกันในทุกระดับความสัมพันธ์ของมนุษย์ เมื่อพิจารณาดูดีๆ เราจะพบว่าต้นตอของปัญหาทั้งหมด เกิดขึ้นเนื่องจาก การพิจารณา คุณค่า ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งทับซ้อนกัน เมื่อทับซ้อนแล้ว นำมาซึ่งปรากฏการณ์ที่ตามมาที่ลดค่า หรือเพิ่มคุณค่า ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือขับให้คุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหายไป ( Marginalization )

ไล่ตั้งแต่ปัญหาในครัวเรือน ที่เมื่อภรรยามือใหม่ทำกับข้าวไม่ถูกปากสามี จนสามีตำหนิติเตียนอาหาร ก็เกิดจากการให้คุณค่าในสิ่งที่ต่างกัน ภรรยามองว่าคุณค่าของอาหารคือการตั้งใจทำให้สามีทานทั้งๆที่ในชีวิตไม่ใคร่ได้ทำอาหารให้ใครได้ทาน แต่สามีให้คุณค่าของอาหารด้วยรสชาต ครั้นเมื่อได้รับอาหารที่ไม่ถูกปาก ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดที่สามีพิจารณาอาหาร ก็ออกปากตำหนิอาหาร นั่นเป็นการทับซ้อนกันของการให้คุณค่าอาหาร จนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้น

การแสดงลักษณ์ของสังคมใดสังคมหนึ่ง หากจุดที่มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ควรแสดงเป็นอัตลักษณ์แตกต่างกัน ก็นำมาซึ่งปัญหาได้ ในความขัดแย้งระดับพื้นที่ หากคนกลุ่มหนึ่งเห็นคุณค่าการแสดงลักษณ์ควรเหมือนดั่งเช่นบรรพบุรุษได้ดำเนินกันมา ส่วนอีกกลุ่มมองว่าความศิวิไลซ์เช่นเดียวกับโลกที่อารยะทางวัตถุเป็นกันอยู่เป็นสิ่งมีคุณค่า และต่างฝ่ายต่างนำเสนอเพื่อให้คุณค่าในแบบที่ตัวเองตีความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดทั้งสองฝ่ายแล้ว อัตลักษณ์ที่คนในสังคมนั้นพึงต้องแสดง จะกลายเป็นข้อพิพาท เพราะการเห็นต่างของคุณค่าของอัตลักษณ์

ในปัญหาระดับประเทศ ที่ปริมาณน้ำมีจำกัด แต่มีคนต้องการใช้น้ำกันมาก ชาวนาเห็นคุณค่าของน้ำเป็นลมหายใจของผลิตผลการเกษตรของตัวเอง ซึ่งต่อทั้งลมหายใจของข้าวและตัวชาวนาไปด้วยกัน ส่วนฝ่ายปกครองมองว่าคุณค่าของน้ำอยู่ที่การได้เลี้ยงดูผู้คนตามบ้านเรือนปลายน้ำอีกหลายล้านคนให้มีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดช่วง คุณค่าที่ขัดแย้งกันในบริบทของทรัพยากรที่มีจำกัดก็นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้ง

เมื่อพิจารณาเรื่อง คุณค่า ที่ไม่ข้อขัดแย้ง เราจะพบว่าในสังคมที่มีการให้คุณค่าไปในทางเดียวกันทั้งหมด พื้นที่แห่งนั้นจะมีความสงบ สันติ ไม่ว่าคุณค่านั้นๆจะเป็นเรื่องประหลาดสำหรับคนอีกสังคมหนึ่งก็ตาม

สมมติตัวอย่างเช่น ณ ดินแดนแห่งหนึ่ง ที่สร้างบริบทในการมอง คุณค่าสูงสุด ของสตรีเป็ฯเรื่องของการปกปิดเพื่อละอารมณ์ใคร่ ด้วยการแต่งกายแบบคลุมมิดชิปกปิดทั่วทั้งเรือนร่าง การแต่งกายเช่นนี้คือการให้คุณค่าแก่สตรี ณ บริบทของสังคมนั้น ร้อยทั้งร้อยของคนในสังคมเห็นเป็นเช่นเดียวกัน สตรีทุกคนที่อยากมีคุณค่าตามที่บริบทสังคมคิดเห็น ก็แต่งกายเช่นนั้น และยอมรับในเงื่อนไขอื่นๆที่เป็นอุปสรรคของการแต่งกายเช่นนี้ได้หมด ไม่ว่าจะร้อน จะอับ จะต้องใช้เนื้อผ้ามากก็ตาม หากคนทุกคนในสังคมเห็นเช่นเดียวกัน ก็จะไม่มีแรงขับต้านและไม่มีความขัดแย้งทั้งทางความคิดและการกระทำ 

จนเมื่อหากมีการปะทะกันทางความคิดของการให้คุณค่า จากอีกสังคมหนึ่ง ที่กำหนด คุณค่าสูงสุด เป็นเรื่องเสรีภาพและความสวยงามทางเพศสภาพ การแต่งกายของสตรีในบริบทอีกสังคมหนึ่ง ก็จะให้คุณค่าสตรีที่แต่งกายได้งดงาม เปิดเผยสัดส่วนธรรมชาติของสตรีบ้าง เพื่อให้มนุษย์อื่นๆได้ชื่นชมความงดงาม นี่ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งในการมองและให้คุณค่าในประเด็นเดียวกันคือ เครื่องแต่งกายสตรี ตราบที่สองความคิดนี้ไม่ปะทะและปะปนในชุมชนความคิดเดียวกันแล้ว ทั้งสองสิ่งจะเป็นสิ่งมีคุณค่า ในบริบทของของสังคมที่สอดรับกับคุณค่าที่สังคมให้ไว้

แต่หากวันหนึ่ง มีการนำ คุณค่า ของสังคมในบริบทหนึ่ง มาใช้กับอีกบริบทหนึ่ง เมื่อนั้นก็ต้องมีกระบวนการในการปะทะกันทาง คุณค่าที่สังคมนั้นๆได้ให้ไว้ จนเมื่อถึงจุดอิ่มตัวของการปะทะกันทางคุณค่า (Equilibrium state) สังคมจะได้ คุณค่าใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าสำหรับการให้คุณค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กระบวนการเช่นนี้ผมขอเรียกว่า วิวัฒนาการทางวัฒนธรรม
การวัดคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผ่านบริบทเดียว แบบที่เรายึดติดและให้คุณค่าเท่านั้น จะนำมาซึ่งการปะทะกันของทัศนคติและคุณค่าเสมอ 

จงอย่าลืมว่า คุณค่า และทัศนคติ ที่มาจากมนุษย์เจ็ดพันล้านคนบนโลกใบนี้และที่ตายไปแล้วหลายพันล้านคน ไม่มีทางเหมือนกัน 

โลกที่สันติจริงๆมีอยู่สองทาง ทางแรกคือทำให้คนคิดเห็นเช่นเดียวกันหมด ทางที่สอง ให้มนุษย์นั้นมองเห็นคุณค่าสิ่งต่างๆให้แตกต่างกันได้ และอดกลั้นในความแตกต่างกัน


ข้อสรุป ณ จุดที่ผมเห็นโลกมาไม่กี่ปี บอกผมว่า เราไม่มีทางไปในจุดที่มีสันติจริงๆในโลกได้ ทั้งสองทางเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การทำให้คนทั้งโลกให้คุณค่าทุกเรื่องเป็นสิ่งเดียวกันเป็นไปไม่ได้ ส่วนการทำให้ทุกคนยอมรับคุณค่าทีแตกต่างกันโดยไม่ยุ่งคุกคามแก่กันก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ตราบที่สถานะทางอำนาจของคู่กรณีไม่เทียมเท่ากัน หมอแผนปัจจุบันที่ลดพื้นที่ของหมอแผนโบราณ เพราะหมอแผนปัจจุบันเชื่อมั่นและให้คุณค่า ในการหาความรู้เชิงประจักษ์ ( Evidence base medicine ) ส่วนหมอแผนโบราณให้คุณค่าของความรู้ในฐานะที่เป็นความรู้ที่เร้นลับ สองคุณค่านี้ไม่มีทางพบกันได้ และเดิมพันของการให้คุณค่านี้คือชีวิตของมนุษย์ ความเชื่อมั่นในคุณค่าเช่นนี้ บวกกับสถานะของอำนาจในแพทย์แผนปัจจุบันสูงกว่า จึงลดพื้นที่ของแพทย์แผนโบราณไปเยอะ การมองคุณค่าแตกต่างกันในหลายๆประเด็น ที่เป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตาย เป็นผลประโยชน์ เป็นเรื่องที่มีแรงจูงใจสูงในการเปลี่ยนแนวทางการให้คุณค่า จึงไม่สามารถรักษาให้การตีความคุณค่าที่หลากหลายเกิดขึ้นได้


ขอโทษที่เขียนอะไรยาวๆให้อ่าน 

หวังอย่างเดียวว่า เราๆทั้งหลายจะเข้าใจถึง คุณค่า และ ความเห็นต่างกันบ้าง หากเข้าใจประเด็นนี้ แล้วสันติจะมีมากขึ้นซักหนึ่งนาโนหน่วย ก็ดีใจแล้วครับ


วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ยาก-ง่าย

ใครเคยเป็นแบบนี้บ้าง เวลาทำงานกลุ่มที่ต้องทำร่วมกับเพื่อนหลายๆคน มีงานง่ายๆกับงานยากๆ ให้เลือกต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ามีโอกาสเรามักจะเลือกงานง่ายๆมาทำก่อน ผมคิดว่าภาวะนี้ ทุกๆคนคงต้องเคยเป็นมาบ้าง ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ใครละจะไปเลือกงานยาก
จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมมานั่งไตร่ตรองแล้วค้นพบทางออกของการทำให้เราสามารถรับงานยากด้วยความสมัครใจ


ง่าย หรือ ยาก ของแต่ละคนเป็นเรื่องที่กว้างมาก เพราะบรรทัดฐาน ความถนัด ต้นทุน ที่แต่ละคนมีก็แตกต่างกัน ง่ายของคนหนึ่งอาจเป็นเรื่องยากของอีกคน ไม่ใช่เรื่องแปลก  แต่ลองสังเกตกันดีๆ ว่า ความยากของงานแต่ละอย่างที่เราต้องเจอนั้น มักจะลดลงเรื่อยๆตามจำนวนครั้งที่เราเจองานเหล่านั้น ครั้งแรกที่เราต้องเจองานยาก ความยากมันอาจจะอยู่ที่ระดับ 100 คะแนน ทำครั้งที่สองเหลือความยาก 99 ทำไปร้อยครั้ง ความยากก็เหลือ 0 พอดี นั่นเป็นเชิงทฤษฎีที่พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คนบางคนอาจจะลดระดับความยากเหลือ 0 ตั้งแต่ ครั้งที่สองหรือสามเลยก็ได้ แต่ยืนยันได้เลยว่าสิ่งที่เรารู้สึกว่าง่ายๆในชีวิตประจำวันเราทำทุกวันเนี่ย ล้วนต้องผ่านครั้งแรกๆที่ยากกว่า ณ ขณะนี้แน่ๆ
ผมจะพูดให้ความอยากทำเรื่องยากเพิ่มขึ้นอีกนิดนะครับ สมมติว่าในโลกเรานี้ มีกิจการทั้งหมด 10,000 กิจการ หากว่าเราสามารถเปลี่ยนกิจการเหล่านี้จากเรื่องยาก ให้กลายเป็นเรื่องง่ายทีละกิจการ การใช้ชีวิตบนโลกนี้ของเราก็จะเหลือเรื่องยากให้เราทำน้อยลงเรื่อยๆ แล้วแบบนี้ เราจะรอช้าเพื่อให้ชีวิตเจอแต่เรื่องง่ายๆทำไมกัน


ผมบอกไปแล้วว่าทางทฤษฎี หากใช้มุมมองแบบบวกอย่างเดียว ใครๆก็อยากวิ่งเข้าหาเรื่องยากๆอย่างที่ผมเกริ่นไปแล้วว่าผลดีมันเป็นไงบ้าง แต่ในชีวิตจริง ใครบ้างละที่อยากจะเจอกับความผิดพลาด คนที่ทำเรื่องยากโอกาสจะประสบความสำเร็จก็น้อยกว่าคนที่ทำเรื่องง่าย ความล้มเหลวสำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเลย แล้วยิ่งเวลาที่ต้องทำงานยากก็เยอะกว่า เวลาในชีวิตประจำวันของเราก็น้อยๆกันอยู่แล้ว ใครละอยากให้เวลาเราน้อยลงไปอีก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พบว่าคนส่วนใหญ่ที่เราพบเจอกันทุกวันนี้จึงนิยมเสพเรื่องง่ายๆที่ชีวิตสามารถทำได้ทุกวันอยู่แล้ว  


นักจิตวิทยาท่านหนึ่งชื่อ Prof. Daniel T. Willingham ได้พูดถึงเรื่องแรงจูงใจในการทำสิ่งใดซักสิ่งหนึ่งของมนุษย์ที่ต้องใช้ปัจจัยเรื่องความยาก-ง่ายในการตัดสินใจลงมือทำ เค้าว่าไว้ว่า การที่คนคนหนึ่งจะลงทำกิจการอะไรแล้ว สิ่งที่เป็นแรงจูงใจของการลงมือทำคือผลรางวัลที่ตามหลังความสำเร็จที่เกิดจากการงานนั้นๆ นอกจากรางวัลที่เป็นรูปวัตถุแล้ว สมองของเรายังสามารถหลั่งสารแห่งความสุขเมื่อเราสามารถบรรลุกิจการที่เราลงมือ ยิ่งเป็นกิจการที่ท้าทายและยากเพียงใด ความรู้สึกสุขใจจากการหลั่งสารความสุขนี้ก็จะมากขึ้น หากเป็นเรื่องง่ายๆคนนั้นก็สามารถจะทำให้สำเร็จได้บ่อยครั้ง จนมีความท้าทายน้อยลงความสุขก็น้อยลงด้วย การประเมินความยากง่ายของสมองเราจะประเมินจาก”ความจำรูปแบบ”ในการแก้ปัญหาเก่าๆที่เราสะสมมา หากประเมินแล้วเกิดความรู้สึกว่า”ยากเกินไป”เพราะไม่มีรูปแบบการแก้ปัญหาเก่าๆในสมองเลย สมองจึงจะสั่งให้ทำการ”คิด”  แต่หากประเมินแล้วมีความจำเรื่องรูปแบบการแก้ปัญหา ก็จะกลายเป็นปัญหาง่ายๆทันที โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกถนอมการใช้ความคิดนะครับ ความคิดจะถูกใช้เพื่อแก้ปัญหายากๆ นี่เป็นการลบล้างความเชื่อเก่าของเราที่เคยเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบคิดไปโดยสิ้นเชิงเลยครับ

ย้อนกลับที่เรื่องยาก-ง่ายใหม่ สรุปแล้วย่อหน้าข้างบนบอกไว้ว่า การแก้ปัญหาของมนุษย์เรานั้นใช้”การจดจำ”ในการแก้ปัญหาเก่าๆแทบทั้งหมดและใช้”ความคิด”สำหรับปัญหาใหม่ๆ  เอาละ จากข้อมูลข้างต้นทั้งหมดจึงทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจมากขึ้นในการเชิญชวนผู้อ่านทุกท่าน ไปเผชิญหน้ากับปัญหายากๆให้มากขึ้น เพราะเราจะได้ใช้ความคิดในการแก้ปัญหา และจดจำรูปแบบการแก้ปัญหานั้น หลังจากนั้นก็ไม่มีเรื่องยากในปัญหาเดิมๆอีกต่อไป ถึงแม้ว่าความเสี่ยงจากความล้มเหลวมันยังพอมีบ้าง แต่เชื่อเถอะเมื่อใดที่เราละทิ้งรูปแบบการจดจำรูปแบบการแก้ปัญหาแบบเก่าๆ แล้วเริ่มใช้ความคิดในการแก้ปัญหา เรื่องยากส่วนมากจะเปลี่ยนเป็นเรื่องง่าย เปลี่ยนให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่ายอาจจะไม่ใช่งานง่ายๆเหมือนชื่อ แต่อย่างที่บอกไม่มีอะไรยากตลอดกาลสำหรับคนพยายาม พูดถึงตรงนี้ผมเริ่มสับสนหมดแล้วอะไรง่ายอะไรยาก  เอาอย่างงี้ดีกว่า รีบปิดหนังสือ ปิดคอม แล้วไปหาปัญหายากๆที่ยังไม่ได้แก้ของชีวิตท่านกันเถอะ แล้วชีวิตมันจะง่ายเอง



ทดลองโปรเจกต์ในจินตนาการ"หนังสือสองมิติ" 
15/11/12

"ผมมักจะเลือกคนขี้เกียจให้ทำงานที่ยาก เพราะพวกเขาจะหาวิธีที่ง่ายที่สุดในการแก้ไขปัญหานั้น"
บิล เกตส์


Rachel Corrie "มนุษยธรรมที่ถูกบดขยี้ด้วยรถบด"

Rachel Corrie "มนุษยธรรมที่ถูกบดขยี้ด้วยรถบด"

วันที่ 16 มีนาคม 2003 หลังจากที่ราเชล เดินทางเข้าไปยังฉนวนกาซ่าได้ 3 วัน ในฐานะตัวแทน ขององค์กรน้ำใจสากล (International Solidarity Movement) หน้าที่หลักขององค์กรเธอคือการเข้าไปยังพื้นที่ที่มีความรุนแรง เดินทางเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้ความรุนแรง ในวันที่เธอเดินทางไปในพื้นที่แห่งนั้น เธอมีอายุเพียง 23 ปี
วันที่ 3 ของการใช้ชีวิตในดินแดนมิคสัญญีแห่งตะวันออกกลาง เป็นวันที่มีการบุกรุกเข้ายึดพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์โดยทหารอิสราเอล เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่เธออยู่ในที่แห่งนั้น


ขณะที่รถบด Bulldozer ขนาดใหญ่ยักษ์ของกองทัพอิสราเอลกำลังบดขยี้บ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์อยู่นั้น ก็ปรากฏร่างหญิงสาววัยรุ่นยืนประจันหน้ากับรถบด พร้อมกับประกาศเสียงอันแข็งกร้าวผ่านโทรโข่ง เธอขอให้คนขับรถบดหยุดการทำลายบ้านเรือนของประชาชนเสียที และเธอก็ยืนหยัดอยู่ตรงนั้น
คนขับรถที่ไม่ได้ตาบอด ไม่ได้หูหนวก ไม่ได้โง่ แต่ไม่สามารถมองเห็นเธอ ไม่สามารถได้ยินเสียงของเธอ ขับรถบดบดขยี้ร่างที่ยืนตระหง่านตรงหน้านั้น เธอล้มลงและเสียชีวิตทันที ณ จุดที่มีการรื้อถอนความเป็นมนุษย์ของชาวปาเลสไตน์ เธอทิ้งชีวิตของเธอไว้ที่นั่น และอุดมการณ์ของเธอก็ฝังแน่นที่ดินตรงนั้น แตกกิ่งก้านไปทั่วโลก
ทุกวันนี้บรรดาผู้ใฝ่หาสันติภาพทั่วโลก จะรวมตัวกันเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของเธอในทุกวันที่ 16 มีนาคม ของทุกปี
ภาพวินาทีสุดท้ายของเธอ ถูกคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 16 ภาพที่ดีที่สุดในชุดภาพเพื่อการเรียกร้องสันติภาพ
เรื่องราวของคนบางคน จะมีคุณค่าหากเราเล่าขานต่อไปอย่างไม่จบสิ้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าเรื่องราวของเธอ มีคุณค่าพอให้ข้าพเจ้าหยิบยกมาเล่า
ปล.คดีความของเธอถูกนำไปขึ้นศาลในประเทศอิสราเอล โดยที่พ่อแม่ของเธอฟ้องหน่วยงานรื้อถอนในวันนั้นศาลสถิตความอยุติธรรมแห่งอิสราเอล ได้ตัดสินคดีความของเธอ โดยระบุว่าการตายของเธอเป็น "อุบัติเหตุที่น่าเศร้า"