วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ยาก-ง่าย

ใครเคยเป็นแบบนี้บ้าง เวลาทำงานกลุ่มที่ต้องทำร่วมกับเพื่อนหลายๆคน มีงานง่ายๆกับงานยากๆ ให้เลือกต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ามีโอกาสเรามักจะเลือกงานง่ายๆมาทำก่อน ผมคิดว่าภาวะนี้ ทุกๆคนคงต้องเคยเป็นมาบ้าง ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ใครละจะไปเลือกงานยาก
จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมมานั่งไตร่ตรองแล้วค้นพบทางออกของการทำให้เราสามารถรับงานยากด้วยความสมัครใจ


ง่าย หรือ ยาก ของแต่ละคนเป็นเรื่องที่กว้างมาก เพราะบรรทัดฐาน ความถนัด ต้นทุน ที่แต่ละคนมีก็แตกต่างกัน ง่ายของคนหนึ่งอาจเป็นเรื่องยากของอีกคน ไม่ใช่เรื่องแปลก  แต่ลองสังเกตกันดีๆ ว่า ความยากของงานแต่ละอย่างที่เราต้องเจอนั้น มักจะลดลงเรื่อยๆตามจำนวนครั้งที่เราเจองานเหล่านั้น ครั้งแรกที่เราต้องเจองานยาก ความยากมันอาจจะอยู่ที่ระดับ 100 คะแนน ทำครั้งที่สองเหลือความยาก 99 ทำไปร้อยครั้ง ความยากก็เหลือ 0 พอดี นั่นเป็นเชิงทฤษฎีที่พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คนบางคนอาจจะลดระดับความยากเหลือ 0 ตั้งแต่ ครั้งที่สองหรือสามเลยก็ได้ แต่ยืนยันได้เลยว่าสิ่งที่เรารู้สึกว่าง่ายๆในชีวิตประจำวันเราทำทุกวันเนี่ย ล้วนต้องผ่านครั้งแรกๆที่ยากกว่า ณ ขณะนี้แน่ๆ
ผมจะพูดให้ความอยากทำเรื่องยากเพิ่มขึ้นอีกนิดนะครับ สมมติว่าในโลกเรานี้ มีกิจการทั้งหมด 10,000 กิจการ หากว่าเราสามารถเปลี่ยนกิจการเหล่านี้จากเรื่องยาก ให้กลายเป็นเรื่องง่ายทีละกิจการ การใช้ชีวิตบนโลกนี้ของเราก็จะเหลือเรื่องยากให้เราทำน้อยลงเรื่อยๆ แล้วแบบนี้ เราจะรอช้าเพื่อให้ชีวิตเจอแต่เรื่องง่ายๆทำไมกัน


ผมบอกไปแล้วว่าทางทฤษฎี หากใช้มุมมองแบบบวกอย่างเดียว ใครๆก็อยากวิ่งเข้าหาเรื่องยากๆอย่างที่ผมเกริ่นไปแล้วว่าผลดีมันเป็นไงบ้าง แต่ในชีวิตจริง ใครบ้างละที่อยากจะเจอกับความผิดพลาด คนที่ทำเรื่องยากโอกาสจะประสบความสำเร็จก็น้อยกว่าคนที่ทำเรื่องง่าย ความล้มเหลวสำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเลย แล้วยิ่งเวลาที่ต้องทำงานยากก็เยอะกว่า เวลาในชีวิตประจำวันของเราก็น้อยๆกันอยู่แล้ว ใครละอยากให้เวลาเราน้อยลงไปอีก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พบว่าคนส่วนใหญ่ที่เราพบเจอกันทุกวันนี้จึงนิยมเสพเรื่องง่ายๆที่ชีวิตสามารถทำได้ทุกวันอยู่แล้ว  


นักจิตวิทยาท่านหนึ่งชื่อ Prof. Daniel T. Willingham ได้พูดถึงเรื่องแรงจูงใจในการทำสิ่งใดซักสิ่งหนึ่งของมนุษย์ที่ต้องใช้ปัจจัยเรื่องความยาก-ง่ายในการตัดสินใจลงมือทำ เค้าว่าไว้ว่า การที่คนคนหนึ่งจะลงทำกิจการอะไรแล้ว สิ่งที่เป็นแรงจูงใจของการลงมือทำคือผลรางวัลที่ตามหลังความสำเร็จที่เกิดจากการงานนั้นๆ นอกจากรางวัลที่เป็นรูปวัตถุแล้ว สมองของเรายังสามารถหลั่งสารแห่งความสุขเมื่อเราสามารถบรรลุกิจการที่เราลงมือ ยิ่งเป็นกิจการที่ท้าทายและยากเพียงใด ความรู้สึกสุขใจจากการหลั่งสารความสุขนี้ก็จะมากขึ้น หากเป็นเรื่องง่ายๆคนนั้นก็สามารถจะทำให้สำเร็จได้บ่อยครั้ง จนมีความท้าทายน้อยลงความสุขก็น้อยลงด้วย การประเมินความยากง่ายของสมองเราจะประเมินจาก”ความจำรูปแบบ”ในการแก้ปัญหาเก่าๆที่เราสะสมมา หากประเมินแล้วเกิดความรู้สึกว่า”ยากเกินไป”เพราะไม่มีรูปแบบการแก้ปัญหาเก่าๆในสมองเลย สมองจึงจะสั่งให้ทำการ”คิด”  แต่หากประเมินแล้วมีความจำเรื่องรูปแบบการแก้ปัญหา ก็จะกลายเป็นปัญหาง่ายๆทันที โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกถนอมการใช้ความคิดนะครับ ความคิดจะถูกใช้เพื่อแก้ปัญหายากๆ นี่เป็นการลบล้างความเชื่อเก่าของเราที่เคยเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบคิดไปโดยสิ้นเชิงเลยครับ

ย้อนกลับที่เรื่องยาก-ง่ายใหม่ สรุปแล้วย่อหน้าข้างบนบอกไว้ว่า การแก้ปัญหาของมนุษย์เรานั้นใช้”การจดจำ”ในการแก้ปัญหาเก่าๆแทบทั้งหมดและใช้”ความคิด”สำหรับปัญหาใหม่ๆ  เอาละ จากข้อมูลข้างต้นทั้งหมดจึงทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจมากขึ้นในการเชิญชวนผู้อ่านทุกท่าน ไปเผชิญหน้ากับปัญหายากๆให้มากขึ้น เพราะเราจะได้ใช้ความคิดในการแก้ปัญหา และจดจำรูปแบบการแก้ปัญหานั้น หลังจากนั้นก็ไม่มีเรื่องยากในปัญหาเดิมๆอีกต่อไป ถึงแม้ว่าความเสี่ยงจากความล้มเหลวมันยังพอมีบ้าง แต่เชื่อเถอะเมื่อใดที่เราละทิ้งรูปแบบการจดจำรูปแบบการแก้ปัญหาแบบเก่าๆ แล้วเริ่มใช้ความคิดในการแก้ปัญหา เรื่องยากส่วนมากจะเปลี่ยนเป็นเรื่องง่าย เปลี่ยนให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่ายอาจจะไม่ใช่งานง่ายๆเหมือนชื่อ แต่อย่างที่บอกไม่มีอะไรยากตลอดกาลสำหรับคนพยายาม พูดถึงตรงนี้ผมเริ่มสับสนหมดแล้วอะไรง่ายอะไรยาก  เอาอย่างงี้ดีกว่า รีบปิดหนังสือ ปิดคอม แล้วไปหาปัญหายากๆที่ยังไม่ได้แก้ของชีวิตท่านกันเถอะ แล้วชีวิตมันจะง่ายเอง



ทดลองโปรเจกต์ในจินตนาการ"หนังสือสองมิติ" 
15/11/12

"ผมมักจะเลือกคนขี้เกียจให้ทำงานที่ยาก เพราะพวกเขาจะหาวิธีที่ง่ายที่สุดในการแก้ไขปัญหานั้น"
บิล เกตส์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น