วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

ยาเสพติด : วัฒนธรรมกระแสหลักแห่งเยาวชนชายแดนใต้





ซักเมื่อ  10 กว่าปีที่แล้ว ช่วงๆแรกที่มีการตื่นตัวของการต่อต้านกระแสตะวันตกในสังคมมุสลิม มีการพยามเชิญชวนให้เยาวชนมุสลิม ออกห่างจากสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมตะวันตก” ด้วยการออกสโลแกน เป็น 3 M คือ Music  Movie  Mc’donal  หรือว่า 5 S คือ Sport  Song  Sex  Star Social  ไม่ว่าจะย่อด้วย 3 M หรือ  5 S ก้ตาม จะเห้นได้ว่า คนในโลกมุสลิมมองเห็นปัญหาของการตามกระแสทางความคิดเป็นเรื่องสำคัญ กลัวว่า เยาวชนมุสลิม จะคลั่งไคล้ในกีฬา บ้าดารา กินอาหารตะวันตก แสดงออกทางเพศอย่างไร้จริยธรรม หรือการมีสังคมที่ผิดแปลกไปจากสิ่งที่รูปแบบอิสลามได้สอน แน่นอนว่าการเป็นทาสทางความคิดนั้นเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ แต่การที่เรามัวแต่ปกป้องเยาวชนจากการเป็นทาสของวัฒนธรรมตะวันตกเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะปกป้องอนาคตเยาวชนของเราได้ จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 M และ 5 S ไม่มีการพูดถึง ยาเสพติดเลยทั้งๆที่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัญหายาเสพติดก็ไม่ใช่เรื่องที่ยังไม่มี คนที่ติดยาเสพติดในสมัย 10 ปีที่แล้วคือ กลุ่มคนที่ไม่มีอนาคตที่สุดในหมู่บ้าน พูดง่ายๆคือเข็นไปทางอื่นไม่ไหวแล้ว ก็มาติดยากัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเยาวชนทั้งหมู่บ้าน  จนกระทั่งปัจจุบัน ปัญหาเรื่องยาเสพติดนี้ได้กลายเป็นปัญหาหลักของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ทุกหมู่บ้านที่มีเยาวชนก็ต้องมีปัญหายาเสพติดควบคู่ไปด้วย เยาวชนที่แค่ไม่ติดยาเสพติดกลายเป็นกลุ่มคนที่ดีที่สุดในหมู่บ้านและแน่นอนเป็นส่วนน้อยของหมู่บ้านไปเลย ตามความคิดของผมเอง ปัญหายาเสพติดนี้มันน่าจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเรื่องความไม่สงบ สิ่งที่ทำลายล้างทั้งความคิดและชีวิตของความหวังของสังคม กลายเป็นประเด็นที่ถูกละเลยได้เช่นไร แล้วเราจะทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้บ้าง จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญที่เราๆท่านๆทั้งหลายที่พอจะเป็นความคาดหวังของสังคมมาร่วมกันรับรู้และแก้ปัญหานี้ร่วมกัน




การเริ่มต้นของปัญหา
1.ความเข้าใจบทบัญญัติที่คลาดเคลื่อน ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเริ่มต้นปัญหานี้ คือการที่ผู้รู้ที่มีความรับผิดชอบสำคัญในการปลูกฝังความคิดให้ลูกหลานนั้นมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในบทบัญญัติเกี่ยวกับยาเสพติดของศาสนาอิสลาม ความจริงแล้ว มุสลิมมีความเคร่งครัดอย่างมากกับเรื่องอาหารการกิน เช่นที่มุสลิมไม่กินหมู หรือมุสลิมไม่ดื่มเหล้า (ถึงแม้บางคนจะดื่มก็ดื่มแบบหลบๆซ่อนๆอยู่) เพราะเรื่องเหล่านี้ได้ถูกกล่าวอย่างชัดเจนในอัล-กุรอ่าน  และการปลูกฝังให้เยาวชนเกลียดชังกับความชั่วร้ายทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นไปอย่างเข้มข้น  ผมจะกล่าวถึงอายัตกุรอ่านที่กล่าวถึง เรื่องสุรา ที่อัลลอฮได้กล่าวไว้ใน ซูเราะฮ อัลมาอิดะฮ อายัตที่ 90 ว่า
ความหมาย:ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! ที่จริงสุราและการพนันและแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้ว นั้นเป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ

ความคลาดเคลื่อนที่บรรดาผู้นำศาสนาในพื้นเข้าใจในอายัตนี้คือการเข้าใจคำว่า  خمر  ซึ่งความหมายโดยตรงตัวของมันคือเหล้า ก็แปลไปตรงๆว่ามันเป็นเหล้าอย่างเดียว โดยอ้างอิงหลักการทางฟิกฮเมื่อสมัยหลายร้อยปีที่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่า ในหลายร้อยปีที่แล้วสิ่งมึนเมามีเพียงไม่กี่ชนิด โลกยังไม่ค้นพบสารเสพติดที่มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา(อาจจะกดประสาท กระตุ้นประสาท หลอนประสาทก็ได้)  โดยแท้จริงแล้วบรรดาผู้รู้ได้อธิบายความหมายของคำว่า خمر  อย่างชัดเจนว่าคือสิ่งที่ทำให้สติสูญหาย หรือสูญเสียสตินั่นเอง ดังนั้น ของมึนเมา สารเสพติดทุกชนิดจึงเป็นสิ่งที่อัลลอฮได้ห้ามไว้อย่างชัดเจน  เหมือนในเรื่องของบุหรี่ที่บรรดาผู้นำศาสนายังไม่กล้าฟันธงให้ชัดเจนว่ามันเป็นสิ่งต้องห้ามแน่นอน เราจึงพบเห็นเด็กๆสูบบุหรี่กันอย่างกลาดเกลื่อน และบุหรี่นี่เองที่เป็นประตูสู่ยาเสพติดอันดับสูงกว่าอื่นๆ   น่าเสียดายที่การปลูกฟังให้เด็กๆตัวเล็กๆรังเกียจยาเสพติดทั้งหลายเหมือนที่รังเกียจเหล้านั้นไม่เกิดขึ้นซักทีในพื้นที่สามจังหวัด  หากการปลูกฝังเหล่าเรื่องพวกนี้เราสามารถทำได้สำเร็จก็จะเป็นเกราะป้องกันชั้นดีให้ลูกหลานเยาวชนของเราในอนาคต



                2.ภาวะไร้การศึกษาในหมู่เยาวชนมุสลิม ผมเชื่อว่าการศึกษาเป็นปราการที่สำคัญมากในการป้องกันเยาวชนจากปัญหายาเสพติด เหตุเพราะ การเรียนการสอนในประเทศไทยนั้นเป็นการบังคับให้นักเรียนต้องอยู่ในพื้นที่โรงเรียนอย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง แน่นอนว่าบริเวณพื้นที่ในโรงเรียนย่อมถูกเข้มงวดกวดขันในการดูแลเรื่องยาเสพติด นักเรียนที่เข้าไปในโรงเรียนย่อมมีความลำบากในการเสพยาเสพติดแน่นอน อีกทั้งตัวโรงเรียนเองโดยปณิธานของทุกๆโรงเรียนย่อมเหมือนกันคือ ทำให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถ การมีความรู้ความสามารถทำให้นักเรียนตระหนักถึงคุณค่าและหน้าที่ที่ตัวเองควรต้องปฏิบัติ รู้ถึงอันตรายของยาเสพติดที่จะมีต่ออนาคตของตัวเอง สถานะการเป็นนักเรียนจึงเป็นการป้องกันเยาวชนจากปัญหายาเสพติด แต่น่าเสียดายที่หลายๆครอบครัวไม่เข้าใจในความสำคัญของการศึกษา ไม่ได้เห็นว่าการศึกษานั้นเป็นเครื่องมือชั้นยอดในการพัฒนาชีวิต จึงไม่ได้เข้มงวดกวดขันกับเรื่องการศึกษาให้ลูกมากนัก เมื่อลูกงอแงไม่อยากเรียนก็เห็นใจ ปล่อยให้ลูกอยู่บ้านเฉยๆ ตัวลูกเองยังเด็กเกินกว่าจะทำงาน ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็ต้องไปรวมกลุ่มกับเพื่อนๆที่ไม่ได้เรียนด้วยกัน กลายเป็นสมาคมคนไม่เรียน สุดท้ายหากิจกรรมอะไรอื่นไม่ได้ก็ต้องจบด้วยการร่วมกันเสพยาเสพติด ปัญหาลูกโซ่ตามมาคือ ต้องใช้เงินในการเสพยา จึงต้องทำอาชญากรรมร่วมกันอีกเพื่อหาเงินมาเสพยา ปัญหาที่วนไปเวียนมาเช่นนี้เกิดขึ้นเกือบทุกพื้นที่ ดังนั้นทางแก้คือการเข้มงวดกวดขันให้ลูกหลานตั้งใจเรียน และต้องการมีอนาคตที่ดีต่อไป


                3.ความอ่อนแอของชุมชน เนื่องด้วยปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหาที่แทบจะมองหาความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไม่ได้เลยในทัศนะของผม ความซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความไม่สงบทำให้เป็นเรื่องยากมากในการที่กลไกรัฐจะเข้าถึงทุกซอกมุมของทุกชุมชน แต่กระนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าละอายเหลือเกินที่ชุมชนทุกชุมชนที่มีมัสยิด มีผู้ใหญ่บ้าน มีโตะอิหม่าม มีกำนัน มีนักการเมืองท้องถิ่น  เป็นมุสลิม แต่ไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในรูปแบบอิสลามได้  เมื่อพ่อค้ายาเสพติดเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนในหมู่บ้าน เมื่อเด็กที่ต้มใบกระท่อม รวมกลุ่มกันเสพยา ต่างก็เป็นลูกหลานของคนในหมู่บ้าน แต่ไม่ปรากฏบุคคลใดๆในชุมชนออกมาห้ามปราม นี่แสดงถึงความอ่อนแออย่างมากของชุมชนมุสลิมไม่เพียงไม่สามารถป้องกันลูกหลานของชุมชนแต่กลับกลายเป็นการส่งเสริมลูกหลานของชุมชนเข้าไปสู่ระบบยาเสพติดไปเรื่อยๆ  หากบรรดาผู้นำชุมชนมีความตระหนักในอำนาจและภาระหน้าที่ที่ตนเองมี  หากสมาชิกในชุมชนเป็นหูเป็นตาดูแลลูกหลานของชุมชนเหมือนลูกหลานของตนเอง หากทุกคนในชุมชนปฏิบัติตนในกรอบศาสนาอย่างเคร่งครัด เราคงมีชุมชนที่เข้มแข็งห่างไกลจากปัญหายาเสพติดเป็นแน่
 แน่นอนว่าการเผชิญหน้ากับอารยะธรรมแห่งความล้าหลังอย่างยาเสพติดนั้นเป็นเรื่องที่หนักหนามากกว่าการเผชิญหน้ากับอารยะธรรมสมัยใหม่อย่างตะวันตกเพราะอารยะธรรมที่เผยแพร่มาแบบคาดไม่ถึงอย่างยาเสพติดหยุดยั้งได้ยากมาก  การสร้างความเข้มแข็งจากพื้นฐานของศาสนาที่ดีน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการป้องกันลูกหลานของเราในอนาคต แต่หากเราไม่ช่วยเหลือสังคมจากสภาพที่เลวร้าย ณ ปัจจุบันนี้แล้ว ก็ไม่แน่ว่า เราจะยังมีอนาคตที่ดีให้ลูกหลานของเราอีกหรือเปล่า   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น