วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

ปฏิวัติปากท้อง




พลันที่นกหวีดสุดท้ายแห่งการต่อสู้เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดี ฮุสนีย์ มูบาร็อก แห่งอิยิปต์สิ้นสุดลง ประชาชนทั่วประเทศชูมือชูไม้ เปล่งเสียงตะโกน โห่ร้องด้วยความดีใจในชัยชนะของพลังประชาชนทั่วประเทศ พร้อมกับอาการกลัดกลุ้มในทรวงอกของผู้นำประเทศว่าที่โดมิโนตัวถัดๆไป ที่เหมือนกับรู้ตัวว่าความผิดที่ตนเองได้ทำในอดีตนั้น พร้อมจะถูกขุดคุ้ยขึ้นมา อำนาจที่ตนเองได้รับมาอย่างยาวนานเริ่มถูกสั่นคลอน สภาพเหมือนคนที่ร้อนตัว  แน่นอนว่าปรากฏการณ์โดมิโน ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ให้โลกนี้แน่ ก็ได้แต่หวังว่ามันจะทำให้ตะวันออกกลางที่ยุ่งเหยิงนั้น มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น
เหมือนเป็นเรื่องตลก ที่ผู้นำประเทศ ที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานสร้างสมบารมีจนสามารถควบคุมกิจการทุกอย่างในประเทศ มีอำนาจเหมือนกษัตริย์ในระบอบสมมติเทพ กลับถูกโด่นล้มในระยะเวลาสั้นๆไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ผมขออธิบายตามความเข้าใจของคนตามข่าวไกลๆ ถึงองค์ประกอบที่ทำให้เหตุการณ์โดมิโน่ในครั้งนี้ระเบิดขึ้น ขอแยกเป็น 4 ข้อ
1.ปากท้องของประชาชน หัวข้อนี้น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ความจริงแล้ว ดินแดนตะวันออกกลางเกือบทุกประเทศ เป็นเหมือนของขวัญที่พระเจ้ามอบให้ผู้ครอบครองดินแดนบริเวณนั้น เพราะอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย  แต่เหมือนจะเป็นเรื่องคู่กันเลยคือ ถ้ามีทรัพยากรเยอะ ก็จะมีนักการเมืองหรือผู้นำแย่ๆมาบริหารประเทศ  กลายเป้นวัฏจักรที่หมุนเวียนไม่จบไม่สิ้น เมื่อรัฐบาลขายทรัพยากรได้ ก็ต้องหักให้ครอบครัวผู้นำประเทศที่ถือครองสัมปทานและกิจการหลักๆภายในประเทศ กว่าจะผันมาเป็นงบประมาณแผ่นดินก็โดนไปหลายดอกแล้ว พอจะลงเม็ดเงินกระจายทำโครงการต่างๆทั่วประเทศก็ต้องฝ่าด่านองค์กรณ์ราชการขี้ช่อต่างๆ ข้าราชการน้อยใหญ่หาความสุจริตได้ยาก เพราะผู้นำไม่ได้เป็นแบบอย่าง การพัฒนาที่แท้จริงจึงไม่เกิดหรือเกิดน้อยมาก วิถีชีวิตของชาวตูนิเซีย และ ชาวอิยิปต์ จึงไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงอะไรดีขึ้นเลย ยากจนยังไงก็ยังยากจนอยู่อย่างนั้น ในขณะเดียวกันผู้นำทั้งสองประเทศต่างก็กอบโกยทรัพย์สินกันอย่างละโมบ มีบางรายงานกล่าวว่า ทรัพย์สินของทั้งสองคนนั้น มีมากกว่า แสนล้านดอลล่าสหรัฐ เงินเดือนดีอย่างนี้ไม่นานคำถามที่เราชอบถามเด็กอนุบาลว่าโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร ทั้งโลกคงต้องตอบเหมือนกันหมดแน่ว่าอยากเป็นประธานาธิบดี
สุดท้ายประชาชนทั้งประเทศก็อดรนทนใจไม่ได้เพราะทำมาหากินลำบาก ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ไม่มี ตกงาน เรื่องปากท้องไม่จำเป็นต้องมีอุดมการณ์อะไรสูงส่งหรอก ถึงแม้อุดมการณ์ในการเรียกร้องทางการเมืองจะต่างกัน แต่สุดท้าย เรื่องปากท้องก็หลอมรวมพลังประชาชนให้เป็นหนึ่งได้
2.การละเมิดมนุษยธรรม ส่วนที่สองนี้เป็นเหมือนเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้ไฟแห่งความเกรี้ยวกราดของประชาชนลุกท่วมบังลังค์อำนาจของผู้นำ สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกผู้เหล่ายึดถือเป็นคุณสมบัติหนึ่งในการเป็นมนุษย์เลยก็ว่าได้ คือความเกลียดชังในความอยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชนคือเรื่องร้ายแรงที่สุดในภาพรวมของความอยุติธรรมทั้งหลาย เราจะเห็นได้ว่า ช่วงแรกๆของการชุมนุมประท้วง ผู้คนไม่ได้มีมากมาย แต่เมื่อรัฐบาลเริ่มให้ความรุนแรง ใช้อาวุธสงครามในการปราบปรามประชาชน ก็จะมีพลังแฝงของประชาชนที่รักความยุติธรรมเกิดขึ้นมากมาย ยิ่งรัฐบาลใช้ความรุนแรงมากเท่าไหร่ ก็เหมือนเติมเชื้อไฟในกองเพลิงของประชาชน นำมาซึ่งพลังที่มหาศาลในที่สุด
3.อิสระในการเผยแพร่ข้อมูลบนโลกไซเบอร์ กุญแจสำคัญในการเผยแพร่ความรู้สึกร่วมและข้อมูลสำคัญๆที่จะโน้มน้าวการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ในการออกมาต่อสู้ หากเราย้อนในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาในบ้านเรานั้น เราจะพบว่า ปัญญาชนกลุ่มหนึ่งใช้เวลานานมากในการรวมตัวเคลื่อนไหว การรับแนวคิดหรือความรู้สึกร่วมในความอยุติธรรมนั้นต้องผ่านหนังสือ หรือสิ่งพิมพ์ กว่าจะกระจายได้ทั่วประเทศก็ใช้เวลานานมาก จึงไม่สามารถที่จะดำเนินการใดๆแบบสายฟ้าแลบได้ แต่ในขณะที่เยาวชนที่ปฏิวัติรัฐบาลด้วยอินเตอร์เน็ตนั้น มีอาวุธที่เจาะเข้าแกนสมองส่วนความรู้สึกของผู้คนได้รวดเร็ว และ มีอิทธิพลอย่างรุนแรงมาก เพราะไม่ได้มีแค่ตัวหนังสือ หรือภาพถ่ายขาวดำนั้นที่ถ่ายทอดความรู้สึก แต่มีครบทั้ง ภาพนิ่งคมชัด วิดีโอ บทความ ทั้งหมดถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแค่ในประเทศเท่านั้น แต่หมายถึงทั่วทั้งโลก การปฏิวัตด้วยอินเตอร์เน็ตจึงเป็นการปฏิวัติที่ทันสมัยที่สุด มีงบประมาณน้อยมากๆ ไม่ต้องมีแกนนำในการชุมนุมที่ชัดเจนก็ทำได้
สิ่งที่เยาวชนในอิยิปต์และตูนิเซียทำได้นั้น จึงกลายเป้นเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ให้เยาวชนส่วนอื่นๆของโลกได้ไปขบคิดกันต่อว่า ถ้าในมือเราทุกคน มีสิ่งมหัสจรรย์ที่เรียกว่าอินเตอร์เน็ตแล้ว เราจะทำให้มันกลายเป็นพลังสร้างสรรค์ที่มหาศาลได้อย่างไร
4.ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลาม ในการประท้วงครั้งนี้หัวข้อนี้คงเป็นได้เพียงแค่พาดหัวเล็กๆเท่านั้น แต่ก็เป็นโครงสร้างสำคัญที่ทำให้การเดินหน้าชุมนุมเป็นไปอย่างมีระบบ เพราะอย่างน้อยอุดมการณ์ของผู้คนที่จะทำเพื่อศาสนา ย่อมมีความคงทนมากกว่าของคนที่ต่อสู้เพื่อปากท้องเพียงอย่างเดียว ในการชุมนุมครั้งนี้อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเป็นการชุมนุมรูปแบบใหม่ที่ไร้ผู้นำชัดเจน แต่ก็ยังพอเห็นอย่างรางๆได้ว่า นั่งร้านที่คอยค้ำจุนโครงสร้างใหญ่ของการชุมนุมนี้คือขบวนการอิควานอัลมุสลีมูน ทั้งๆที่ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้ปกครองนั้น พยามสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของขบวนการนี้ แต่ก็อย่างที่บอกอีกนั่นแหละ คนเหล่านี้มีชีวิตเพื่อศาสนา ปากท้องจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความทุกข์ยากลำบากในการที่จะดำรงในอุดมการณ์อย่างแน่วแน่จึงกลายเป็นเหมือนความสุขอย่างหนึ่ง เพราะคนเหล่านี้รับรู้ว่า งานที่ยากลำบากย่อมแลกมาด้วยผลตอบแทนอันมหาศาล ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับในโลกนี้ ก็ยังเชื่อมั่นเสมอว่าความยุติธรรมที่แท้จริงนั้นจะเกิดขึ้นกับตนแน่ๆ ผู้คนที่เฝ้ารอการหวนกลับมาของอิควานอัลมุสลีมูนทั่วโลกต่างจับจ้องไปยังโดมิโนทั้งสอง และจับจ้องไปยังขบวนเคลื่อนไหวอิสลามอื่นๆ ในว่าที่โดมิโนตัวต่อไปด้วย

ผมยังเชื่อมั่นว่า คงมีเยาวชนมุสลิมหลายล้านคนทั่วโลกที่มีความหวังว่าระบอบคิลาฟะฮจะกลับมาพร้อมกับการปฏิวัติดอกมะลิในครั้งนี้ คงไม่มีการงานใดที่จะมาด้วยความบังเอิญตลอดเส้นทางจนได้รับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ แน่นอนเราได้รับความบังเอิญหลายประการมากมายที่เอื้อต่อการกลับมาของระบอบคิลาฟะฮจากโดมิโนในครั้งนี้ แต่ตราบใดที่ ปัจจัยข้อที่ 4 ไม่ได้เป็นปัจจัยแรกในการล้มล้างผู้นำทุศีลทั้งหลายแล้ว ก็คงยากที่เราจะเห็นการกลับมาของระบอบคิลาฟะฮ 
โอ้เยาวชนทั้งหลาย จงสร้างอุดมการณ์ให้เข้มแข็ง จงสร้างลูกหลานของท่านให้มีอุดมการรณ์ที่เข้มแข็ง อุดมการณ์ไม่ได้หมายถึงการปฏิบัติความดีงามที่ศาสนาสั่งใช้เท่านั้น แต่มันหมายถึง การที่ท่านสามารถเสียสละทุกสิ่งอย่างในชีวิตท่าน เพื่อศาสนาของท่าน มิเช่นนั้นแล้ว ชัยชนะของการปฏิวัติในครั้งต่อๆไปก็เป็นได้แค่เพียงชัยชนะของคนยากจนที่หิวโหยเท่านั้น เราต้องสร้างชัยชนะที่เกิดจากอุดมการณ์อันกล้าหาญ นั่นถึงจะเรียกว่าชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ และเมื่อนั้น เราก็รอคอยการกลับมาของระบอบคิลาฟะฮอย่างภาคภูมิเสียที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น